เมนู

คาถาที่ 25


คาถาว่า ขิฑฺฑํ รตึ ดังนี้ มีอุบัติอย่างไร ?
ในกรุงพาราณสี พระราชาพระนามว่า วิภูสกพรหมทัต เสวยยาคู
หรือพระกระยาหารแต่เช้าตรู่ ทรงให้ตกแต่งพระองค์ ด้วยเครื่องประดับ
นานาชนิด ทรงส่องพระวรกายทั้งสิ้น ในพระฉายใหญ่ ทรงเอาเครื่องประดับ
ที่ไม่ต้องการออกเสีย ให้พนักงานตกแต่ง ด้วยเครื่องประดับอย่างอื่น ใน
วันหนึ่ง เมื่อพระองค์ทรงกระทำอย่างนี้ ก็ถึงเวลาเสวยพระกระยาหารตอนเที่ยง
ครั้งนั้นพระองค์ยังตกแต่งไม่เสร็จเลย ก็ทรงโพกพระเศียร ด้วยผืนผ้า แล้ว
เสด็จเข้าที่บรรทมในกลางวัน เมื่อพระองค์เสด็จลุกขึ้น ทรงกระทำอย่างนั้น
แม้อีก พระอาทิตย์ก็อัสดง. ในวันที่ 2 ก็ดี ในวันที่ 3 ก็ดี ก็ทรงกระทำ
อย่างนั้น เมื่อพระองค์ทรงขวนขวายในการตกแต่งอย่างนั้น ก็เกิดพระโรคปวด
ในพระปฤษฏางค์.
พระองค์ทรงพระราชดำริดังนี้ว่า โอ ! โธเอ๋ย เราแม้ตกแต่งอยู่ด้วย
เรี่ยวแรงทั้งหมด ก็ไม่พอใจในเครื่องประดับที่สมควรนี้ ยังความโลภให้เกิด
ขึ้นได้ ก็ขึ้นชื่อว่า ความโลภนั้น ทำให้คนถึงอบาย เอาเถอะ เราจะข่ม
ความโลภนั้น ดังนี้แล้ว ทรงสละราชสมบัติ ทรงผนวช เจริญวิปัสสนาอยู่
ก็ทรงกระทำให้แจ้ง ซึ่งปัจเจกโพธิญาณแล้ว จึงตรัสอุทานคาถานี้ว่า
ขิฑฺฑํ รตึ กามสุขญฺจ โลเก
อนลงฺกริตฺวาน อนเปกฺขมาโน
วิภูสนฏฺฐานา วิรโต สจฺจวาที
เอโก จเร ขคฺควิสาณกปฺโป

บุคคลไม่พอใจการเล่น ความยินดี
และกามสุขในโลกแล้วไม่เพ่งเล็งอยู่เว้นจาก
ฐานะแห่งการประดับ มีปกติกล่าวคำสัตย์
พึงเที่ยวไปผู้เดียว เหมือนนอแรด ฉะนั้น

ดังนี้.
การเล่น ความยินดีในคาถานั้น ได้กล่าวแล้วในกาลก่อนเทียว. บทว่า
กามสุขํ ได้แก่ ความสุขในวัตถุกาม. จริงอยู่ วัตถุกามทั้งหลาย เรียกว่า
สุข เพราะเป็นอารมณ์เป็นต้นของความสุข. เหมือนอย่างพระผู้มีพระภาคเจ้า
ตรัสว่า รูปมีอยู่ ความสุข ติดตามสุข ดังนี้. บุคคลไม่พอใจ คือไม่กระทำว่า
พอละ ซึ่งการเล่น ความยินดี และกามสุขนั่น ในโอกาสโลกนี้ อย่างนี้แล้ว
ไม่ถือสิ่งนั้นว่า ก่อความเดือดร้อน หรือไม่ถือสิ่งนั้นว่าเป็นสาระ.
บทว่า อนเปกฺขมาโน ความว่า มีปกติไม่เพ่งเล็ง คือ ไม่มี
ความอยาก ไม่มีความทะยานอยาก. ในคำว่า วิภูสนฏฺฐานา วิรโต
สจฺจวาที เอโก จเร
นี้ พึงเห็นเนื้อความอย่างนี้ว่า เครื่องประดับมี 2
อย่าง คือ เครื่องประดับสำหรับฆราวาส 1 เครื่องประดับสำหรับบรรพชิต 1
ก็เครื่องประดับสำหรับฆราวาสมีผ้าสาฎก ผ้าโพก ดอกไม้ และของหอม
เป็นต้น ส่วนเครื่องประดับสำหรับบรรพชิตมีเครื่องตกแต่ง คือ บาตรเป็นต้น
เครื่องประดับนั่นเอง ชื่อว่า วิภูสนัฏฐานะ เว้นจากฐานะแห่งการประดับนั้น
ด้วยวิรัติแม้ 3 อย่าง ชื่อว่า มีปกติกล่าวคำสัตย์ เพราะพูดไม่ผิด ดังนี้แล.
วิภูสนัฏฐานคาถาวัณณนา จบบริบูรณ์

คาถาที่ 26


คาถาว่า ปุตฺตญฺจ ทารํ ดังนี้ มีอุบัติอย่างไร ?
ได้ยินว่า พระราชโอรสของพระเจ้าพาราณสี ทรงอภิเษกแล้วในกาล
ยังทรงพระเยาว์นั้นเทียว เสวยราชสมบัติ. พระองค์ทรงเสวยพระสิริราชสมบัติ
ดุจพระปัจเจกโพธิสัตว์ที่กล่าวแล้ว ในปฐมคาถา ในวันหนึ่ง ทรงพระราช
ดำริว่า เราสวยราชสมบัติ ย่อมทำทุกข์แก่ชนมาก เราจะมีประโยชน์อะไร
ด้วยบาปนี้ เพื่อประโยชน์แก่การเสวยคนเดียวเล่า เราจะยังสุขใหญ่ให้เกิดขึ้น
ดังนี้แล้ว ทรงสละราชสมบัติ ทรงผนวช เจริญวิปัสสนาอยู่ ทรงกระทำให้
แจ้งซึ่งปัจเจกโพธิญาณแล้ว ได้ตรัสอุทานคาถานี้ว่า
ปุตฺตญฺจ ทารํ ปิตรญฺจ มาตรํ
ธนานิ ธญฺญานิ พนฺธวานิ
หิตฺวาน กามานิ ยโถธิกานิ
เอโก จเร ขคฺควิสาณกปฺโป

บุคคลละบุตร ภรรยา บิดา มารดา
ทรัพย์ ข้าวเปลือก พวกพ้อง และกามซึ่ง
ตั้งอยู่ตามส่วนแล้ว พึงเที่ยวไปผู้เดียวเหมือน
นอแรด ฉะนั้น
ดังนี้.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ธนานิ ได้แก่ รัตนะทั้งหลายมีแก้วมุกดา
แก้วมณี แก้วไพฑูรย์ สังข์ ศิลา แก้วประพาฬ เงิน ทองเป็นต้น. บทว่า
ธญฺญานิ ได้แก่ อปรธัญชาติ 7 อย่าง อันต่างด้วย ข้าวสาลี ข้าวเจ้า
ข้าวเหนียว ข้าวละมาน ข้าวฟ่าง ลูกเดือย และหญ้ากับแก้.